วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

โครงการบำบัดน้ำเสีย



                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในการแก้ไขและบำบัดน้ำเสียในชุมชนเขตกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่  โดยพระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมมือกันทดลองหาวิธีแก้ไขและบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการที่ง่าย ๆ และเหมาะสม ขณะนี้การบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้ส่งผลเป็นที่น่าพอใจและกำลังเผยแพร่ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศมากขึ้น  การบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำรัสที่พระราชทานให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานนั้น  จะเป็นประโยค ง่าย ๆ และได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดีเป็นข้อความง่าย ๆ ที่มีความหมายลึกซึ้ง และบางครั้งบอกถึงวิธีการดำเนินการไว้ด้วย   ดังพระราชดำริในเรื่องต่อไปนี้
    
      1."น้ำดีไล่น้ำเสีย"  ทรงแนะนำให้ใช้หลักการแก้ไขโดยใช้น้ำที่มีคุณภาพดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยผลักดันและเจือจางน้ำเน่าเสียให้ออกจากแหล่งน้ำของชุมชนในเขตเมือง  ตามคลองต่าง ๆ  เช่น  คลองบางเขน  คลองบางซื่อ  คลองแสนแสบ  คลองเทเวศร์  และคลองบางลำภู เป็นต้น  วิธีนี้จะกระทำได้ด้วยการเปิด-ปิดประตูอาคารควบคุมน้ำ   รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงจังหวะน้ำขึ้นและระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวะน้ำลง ผลก็คือตามลำคลองต่าง ๆ มีโอกาสไหลถ่ายเทหมุนเวียนกันมากขึ้น  น้ำก็จะกลับกลายเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีขึ้นด้วยวิธีธรรมชาติง่าย ๆ


            2.    "ไตธรรมชาติ"  พระราชดำริในการบำบัดน้ำเสียของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยทรงเปรียบเทียบว่า  "บึงมักกะสันเป็นเสมือน "ไตธรรมชาติ" ของกรุงเทพมหานครที่เก็บกักและฟอกน้ำเสียตลอดจนเป็นแหล่งเก็บกักและระบายน้ำในฤดูฝน  และโปรดเกล้าฯ ให้มีการทดลองใช้  ผักตบชวา  ซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้วมาช่วยดูดซับความสกปรกปนเปื้อนรวมตลอดทั้งสารพิษต่าง ๆ  จากน้ำเน่าเสีย ประกอบเข้ากับเครื่องกลบำบัดน้ำเสียแบบต่าง ๆ  ที่ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเอง   โดยเน้นวิธีการที่เรียบง่าย  ประหยัด  บึงมักกะสันในปัจจุบันได้ทำหน้าที่ "ไตธรรมชาติของกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพได้มีส่วนช่วยบรรเทามลพิษทางน้ำ   และเป็นแหล่งศึกษาทดลองด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม  ดังพระราชกระแสที่พระราชทานแก่เจ้าหน้าที่ความตอนหนึ่งว่า
"…ในกรุงเทพมหานครต้องมีพื้นที่หายใจ  แต่ที่นี่เราถือว่าเป็นไตกำจัดสิ่งสกปรกและโรค  สวนสาธารณะถือว่าเป็นปอด  แต่นี่เหมือนไตที่ฟอกเลือด ถ้าไตทำงานไม่ดีเราตาย อยากให้เข้าใจหลักการของความคิดนี้…."

          3. การบำบัดน้ำเสียโดยวิธีการเติมอากาศ  ในปัจจุบันสภาพความเน่าเสียของน้ำบริเวณต่าง ๆ  มีความรุนแรงมากขึ้น  น้ำในคลองและแหล่งน้ำสาธารณะต่าง ๆ  ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนและมีผลเสียต่อสุขภาพอนามัย  จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องกลเติมอากาศเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย  ได้พระราชทานรูปแบบและพระราชดำริในการสร้างและพัฒนาเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวหน้าหมุนช้าแบบทุ่นลอย  หรือ "กังหันน้ำชัยพัฒนาซึ่งมีใบพัดขับเคลื่อนน้ำและซองวิดน้ำไปสาดกระจายเป็นฝอย  เพื่อให้สัมผัสกับอากาศได้อย่างทั่วถึง   เป็นผลให้ออกซิเจนในอากาศสามารถละลายเข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว  และในช่วงที่น้ำเสียถูกยกขึ้นมากระจายสัมผัสกับอากาศตกลงไปยังผิวน้ำ  จะทำให้เกิดฟองอากาศจมตามลงไป  ก่อให้เกิดการถ่ายเทออกซิเจนอีกส่วนหนึ่ง  เครื่องกลเติมอากาศ  "กังหันน้ำชัยพัฒนา" นี้สามารถนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้โดยตรง   และยังสามารถใช้ในการบำบัดน้ำเสียจากแหล่งชุมชน  แหล่งอุตสาหกรรม  และแหล่งเกษตรกรรม  กล่าวคือ  ใช้เพิ่มปริมาณออกซิเจนลงในน้ำ  เพื่อเป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น  รวมทั้งการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่าง ๆ  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและก่อให้เกิดความปลอดภัยในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพของพสกนิกรทุกกลุ่มอาชีพอีกทางด้วย

         กรมทรัพย์สินทางปัญญา  กระทรวงพาณิชย์  ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรเลขที่  3127  ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์  และในการทูลเกล้าฯ  ถวายสิทธิบัตรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  แทนพระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2536  ซึ่งนับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่  9  ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น