วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

โครงการห้วยองคต



โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ต. สมเด็จเจริญ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี





พระราชดำริ
"ให้ดำเนินการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และการทำมาหากินของราษฎรควบคู่ไปกับการพัฒนา และฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกทั้ง โดยเน้น การบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่"


ความเป็นมา
โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บนเนื้อที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม จำนวน ๒๐,๖๒๕ ไร่ ตำบลสมเด็จเจริญ กิ่งอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และการทำมาหากินของราษฎรควบคู่ไปกับ การพัฒนาและฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยทรงเน้น การบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำมาหากินร่วมกับการคงอยู่ ของธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๕ โดยมีมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้สนับสนุน โครงการ รวมทั้งส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ฯลฯ จะใช้พื้นที่ป่าสงวนซึ่งถูกบุกรุกทำลายจนมีสภาพเสื่อมโทรม มาดำเนินการจัดสรรให้แก่ราษฎรผู้ยากจนเข้าไปประกอบอาชีพ ซึ่งได้จัดเป็นแปลงที่ดินให้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยครอบครัวละ ๑ ไร่ ที่ดินทำการ
วัตถุประสงค์
๑. ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมโดยการปลูกป่าไม้ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ตามเดิม
๒. บริหารทรัพยากรอย่างเหมาะสม โดยการแบ่งแยกพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนทั้งในด้านการอนุรักษ์ การฟื้นฟูสภาพป่า การจัดสรรที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ส่วนกลางในการก่อสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็น ต่าง ๆ
๓. จัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน พร้อมทั้งจัดระเบียบชุมชนให้ราษฎรได้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่จัดสรรให้อย่างเหมาะสม
๔. ส่งเสริม พัฒนาอาชีพให้มีรายได้ และสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการบริหารทรัพยากร อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งการอนุรักษ์
การดำเนินงานในส่วนสหกรณ์
ในปี ๒๕๓๕ โครงการได้ดำเนินการจัดให้เกษตรกรเข้าไปอยู่ตามแปลงที่อยู่อาศัย จำนวน ๑๐๐ ครอบครัว ต่อมาปี ๒๕๓๖ จัดให้ราษฎรเข้าอยู่ในแปลง จำนวน ๑๕๐ ครอบครัว และปี ๒๕๓๗ จัดให้ราษฎรเข้าอยู่ในแปลง จำนวน ๒๐๐ ครอบครัว เกษตรกรที่จะเข้าอยู่ในโครงการจะต้องได้รับการอบรมตามหลักสูตรของ โครงการ ซึ่งแบ่งการอบรมเป็นรุ่น ๆ โดยรุ่นแรกเริ่มอบรมในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๕ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด กาญจนบุรีได้มอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์อำเภอบ่อพลอย ซึ่งเดิมไม่ได้แยกเป็นกิ่งอำเภอหนองปรือ ได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปร่วมอบรมราษฎรที่จะเข้าไปอยู่ในโครงการ จำนวน ๓๐๐ คน รวม ๓ รุ่น เพื่อให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ สหกรณ์
ในปี ๒๕๓๖ ทางราชการได้จัดตั้งกิ่งอำเภอหนองปรือ ซึ่งแยกจากอำเภอบ่อพลอย ราษฎรที่เข้าอยู่ใน โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสมเด็จเจริญได้ยื่นคำร้องขอจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร สมเด็จเจริญ จำกัด ขึ้น โดยมีผู้แสดงความจำนงขอจัดตั้งสหกรณ์จำนวน ๖๒ คน ทุนเรือนหุ้น ๒,๘๐๐ บาท นายทะเบียนได้รับจดทะเบียนให้สหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ และเห็นชอบให้สหกรณ์ถือใช้วงเงิน กู้ยืมหรือค้ำประกันได้ภายในจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท การดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรสมเด็จเจริญ จำกัด ได้กำหนดปีทางบัญชีสิ้นสุด ๓๐ มิถุนายน ของทุกปี ในปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ สหกรณ์ได้ดำเนินงานโดยใช้ทุนจากทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ จำนวน ๑๑,๗๙๓ บาท และสินเชื่อทางการค้า สหกรณ์ได้ดำเนินงานโดยจัดหา สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกเป็นจำนวนเงิน ๑๐,๗๕๖ บาท สิ้นปีสหกรณ์มีกำไรสุทธิ ๑,๔๙๓.๖๕ บาท และในปี ๒๕๓๘ มีกำไรสุทธิ ๒๗๔.๙๓ บาท ส่วนปี ๒๕๓๙ อยู่ระหว่างการปิดบัญชี
สหกรณ์ไม่มีพนักงานและใช้บ้านสมาชิกเป็นสำนักงานชั่วคราว ในปัจจุบันมูลนิธิพัฒนาชนบท (บริษัทซีพี) ได้เข้าดำเนินงานในโครงการซึ่งจะช่วยให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และสหกรณ์สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

แผนการแนะนำส่งเสริมในปีงบประมาณ ๒๕๔๐

เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๙ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดกรอบอัตรากำลัง ให้สำนักงานสหกรณ์ กิ่งอำเภอหนองปรือ จำนวน ๒ อัตรา คือ สหกรณ์อำเภอ ระดับ ๖ กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ระดับ ๓ ซึ่งมีแผนในการแนะนำส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรสมเด็จเจริญ จำกัด ในปีงบประมาณ ๒๕๔๐ ดังนี้
๑. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์แก่เกษตรกรในเขตโครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้มีความรู้ความเข้าใจและสมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์โดยดำเนินการ ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๓๙ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๐ คาดว่าจะรับสมาชิกเพิ่มได้ ๒๐๐ คน
๒. จัดประชุมใหญ่สามัญเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ดำเนินการเดือนมกราคม ๒๕๔๐
๓. จัดอบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการดำเนินการ ประธานกลุ่มและเลขานุการกลุ่มดำเนินการเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
ผลการดำเนินงาน

สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ส่งมอบโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ให้สำนักงาน กปร. พิจารณาดำเนินการต่อไป
เมื่อปี 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริกับ นาย สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และเลขาธิการ กปร. อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ว่า ได้ทรงทราบว่า พระเทพญาณรังษี (พระอาจารย์จันทร์ คเวสโก) ได้ไปดำเนินการพัฒนาพื้นที่ตำบลหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี (ปัจจุบันคือพื้นที่ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี) ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรเป็นอย่างดี  จึงให้เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประสานและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งให้กรมชลประทาน พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำต่างๆ ของห้วยตะเพิน ในเขตอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรในเขตโครงการ ทำให้มีน้ำทำการเพาะปลูก อุปโภค - บริโภค ได้ตลอดปี และสมควรปลูกป่าตามบริเวณขอบอ่างเก็บน้ำต่างๆที่ทำการก่อสร้างด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น